Home products FAQ contact
 
FAQ
 
-อะไรคือ แบลคกาไลท์ ครับ คุณสมบัติคืออะไร ?
  Bakelite เป็นชื่อทางการค้าของ Phenol formaldehyde resin หรือมักจะเรียกกันว่าฟีนอลิค เป็นพลาสติกเทอร์โมเซติ้ง ฟีนอลิคทนความร้อนในสภาวะปกติประมาณ 160 - 180 องศาฟาเรนไฮต์ หากผสมวัตถุทนความร้อนบางชนิดจะสามารถทนความร้อนได้ถึง 400 องศาฟาเรนไฮต์ ฟีนอลิคเป็นตัวนำความร้อนที่เลว ติดไฟได้แต่ช้าและดับเองจึงมักนิยมใช้ทำมือจับสำหรับอุปกรณ์สำหรับเครื่องครัว อุปกรณ์ไฟฟ้า ฝาครอบจานจ่ายรถยนต์ ถาดบรรจุสารเคมี ตู้ทีวี ที่รองนั่งโถส้วม นอกจากนี้ฟีนอลิคยังสามารถทำเป็นโฟมได้อีกด้วย ซึ่งโฟมที่ผลิตจากฟีนอลิคนี้สามารถขยายตัวได้ถึง 300 เท่า โฟมฟีนอลิคนิยมทำเป็นทุ่นลอยน้ำ และใช้เสริมความแข็งแรงในเครื่องบิน
 
-พลาสติกวิศวกรรมนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจใดได้บ้าง ?
   พลาสติกวิศวกรรมมีบทบาทสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์สำนักงาน เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปเช่น โพลิเอทธิลีน โพลิโพรพิลีน ฯลฯ ได้แก่ ความแข็งแรง ความทนทานต่อความร้อนสารเคมีหรือแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี แล้วพลาสติกวิศวกรรมที่นิยมใช้และสามารถผลิต ได้ในประเทศในรูปเม็ดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โพลีอะไมล์ โพลิคาร์บอเนต และเทฟรอน
 
-พลาสติกมีกี่ประเภท ?
1.เทอร์โมพลาสติก
     วัสดุประเภทเทอร์โมพลาสติกจะอ่อนตัวและหลอมเหลวเมื่อได้รับความร้อนและจะแข็งตัวเมื่อทำให้เย็นลง พลาสติกที่แข็งตัวแล้วสามารถนำมาหลอมซ้ำได้ด้วยความร้อนเทอร์โมพลาสติกจึงเป็นวัสดุที่มีสมบัติเหมาะสมสำหรับการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยเทคนิคพื้นฐาน เช่น การฉีด การอัดรีด หรือการปั่นเป็นเส้นใย นอกจากนี้
    สมบัติของเทอร์โมพลาสติกที่นำมาหลอมใหม่และขึ้นรูปซ้ำได้ทำให้เกิดประโยชน์จากการใช้วัสดุเศษหรือของเสียจากการผลิต โดยการนำเศษพลาสติกหรือของเสียมาบดและผสมใช้กับเรซินใหม่ อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังคือพลาสติกที่ผ่านกระบวนการที่มีความร้อนหลายครั้งสามารถเสื่อมสภาพ หรือทางเทคนิคเรียกว่า Degradation ดังนั้นการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ควรใช้ผสมในสัดส่วนที่พอเหมาะเท่านั้น สำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ต้องการสมบัติพิเศษ (ทางแสง) ควรระวังเรื่องความสะอาดของวัตถุดิบและสิ่งเจือปน เช่น เลนส์ไฟรถยนต์ การใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการผลิตมาแล้วอาจกระทบต่อสมบัติของผลิตภัณฑ์ได้มาก โพลิเมอร์ประเภทเทอร์โมพลาสติกอาจได้จากการสังเคราะห์แบบรวมตัว (addition) หรือควบแน่น condensation ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้งานทั่วไป ได้แก่ PE, PP, PET, nylon, และ PMMA เป็นต้น

2. เทอร์โมเซท
     โพลิเมอร์ประเภทเทอร์โมเซท แตกต่างจากเทอร์โมพลาสติกที่โครงสร้างเป็นร่างแหหรือเกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างโมเลกุล ซึ่งอาจเป็นผลจากปฏิกิริยาเคมีหรือความร้อน โครงสร้างร่างแห (cross links) จำกัดการเคลื่อนไหวของโมเลกุลโพลิเมอร์ และเมื่อได้รับความร้อนมักจะเลื่อมสภาพ โดยไม่สามารถอ่อนตัว หรือหลอมได้ใหม่ สมบัตนี้ทำให้การนำเทอร์โมเซทกลับมาใช้ใหม่เป็นไปได้ยาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการวิจัยและพัฒนาด้านรีไซเคิลเทอร์โมเซท มากขึ้นก็ตาม
     พลาสติกเทอร์โมเซทได้แก่ ฟินอลิคเรซิน อิพอกซี และโพลิยูรีเทน เป็นต้น พลาสติกหรือเรซินเหล่านี้จะใช้งานหรือผ่านขั้นตอนขึ้นรูป ในรูปของเหลวที่มีความหนืดต่ำสามารถไหลไปตามแบบหรือแม่พิมพ์ได้ จากนั้นเรซินจะถูกบ่มโดยความร้อนหรือปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดการแข็งตัว เทอร์โมเซทอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือ อิลาสโตเมอร์ได้แก่ ยางวัลคาไนซ์ ยางสังเคราะห์ และเทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์
     เทอร์โมเซทมักจะต้องการเวลาเพื่อการแข็งตัวมากกว่าเทอร์โมพลาสติก และอาจต้องมีการตกแต่งหลังจากขึ้นรูป แต่สมบัติที่น่าสนใจคือ การหดตัวหลังขึ้นรูปที่น้อยกว่า และสมบัติความทนต่อความร้อนและสารเคมีที่สูงกว่าเทอร์โมพลาสติก
 
-พลาสติกแบ่งได้เป็นกี่ชนิด ?
   พลาสติกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เทอร์โมพลาสติก กับเทอร์โมเซต เทอร์โมพลาสติกเป็นกลุ่มที่บ้านเราให้ความนิยมมากกว่า เนื่องจากเทอร์โมพลาสติกสามารถนำกลับมาขึ้นรูปใหม่ได้ และเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่งน้อยกว่า มีความเหนียวดี สามารถทำให้มีความบางได้ตามต้องการ น้ำหนักเบา มีรอบในการผลิตน้อย จึงผลิตได้เร็ว ทำให้ได้ผลผลิตสูงสามารถให้สีได้หลากหลาย ส่วนเทอร์โมเซต มีคุณสมบัติที่ไม่สามารถนำกลับมาขึ้นรูปไหม่ได้ ไม่ค่อยหดตัว มีความแข็งตึง ต้านทานการยืดคราก ความชื้น และสารเคมีได้ดีเยียม สามารถใช้งานที่อุณหภูมิสูงได้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการให้สี ความใส และการหล่อเข้าแบบ นอกจากนี้ถ้าจะแบ่งตามลักษณะการใช้งาน ก็จะแบ่งพลาสติกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พลาสติกใช้งานทั่วไป พลาสติกวิศวกรรม และสเปเซียลตี้พลาสติก พลาสติกใช้งานทั่วไป ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นจำพวกโพลิโพรพิลีน โพลิเอทิลีน โพลิสไตรีน โพลิไวนิลคลอไรด์ โพลิเมทิล เมทาคริเลต อะคริลิก เอบีเอส เอสเอเอ็น หรือแซน เป็นต้น สำหรับพลาสติกวิศวกรรมที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ได้แก่ โพลิออกซิเมทิลีน หรือพีโอเอ็ม โพลิคาร์บอเนต โมดิฟายด์ โพลิโพรพิลีนออกไซด์ โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิบิวทิลีนเทเรฟทาเลต เป็นต้น ลักษณะเด่นของพลาสติกวิศวกรรมที่แตกต่างจากพลาสติกใช้งานทั่วไปคือ พลาสติกวิศวกรรมจะมีคุณสมบัติเชิงกลดีกว่า มีน้ำหนังเบา สามารถปรับแต่งได้เหมือนโลหะ ส่วนสเปเชียลตี้พลาสติก เป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่นอกเหนือจาก 2 กลุ่มแรก เช่น เทฟลอน เป้นต้น
 
-เม็ดพลาสติกมีกี่ประเภท สีอะไรบ้าง ?
    ถ้าหากแบ่งประเภทของเม็ดพลาสติกตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับความร้อนหรือผ่านปฏิกิริยาเคมี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) พลาสติกที่อยู่ในกลุ่มนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้หลายครั้ง ซึ่งเปรียบเหมือนน้ำกับน้ำแข็ง เมื่อได้รับความร้อน น้ำแข็งจะเหลวกลายเป็นน้ำ สามารถนำไปเข้าพิมพ์เมื่อเย็นตัวลงก็จะมีรูปร่างตามพิมพ์นั้น แต่เมื่อต้องการจะเปลี่ยนรูปร่างใหม่ก็นำไปให้ความร้อน ก็สามารถหลอมและเปลี่ยนรูปร่างได้อีก ดังนั้นพลาสติกชนิดนี้ จึงสามารถนำไป recycle ได้ อย่างไรก็ตามการผ่านความร้อนหลายครั้งของพลาสติก ย่อมทำให้เกิดการสลายตัว ส่งผลให้คุณสมบัติต่าง ๆ ของพลาสติกลดลง ตัวอย่างพลาสติกในกลุ่มนี้ เช่น PE, POM, PC, PVC, PP, PET เป็นต้น 2. เทอร์โมเซตติ้ง (Thermosetting) พลาสติกในกลุ่มนี้ เมื่อผ่านกระบวนการขึ้นรูปแล้วหนึ่งครั้งจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้อีกเลย ถึงแม้ว่าจะใช้ความร้อน หรือสารเคมีใด ๆ ก็ตาม เทียบได้กับขนมปัง เมื่อผสมสูตรต่าง ๆ และนำไปอบ ขึ้นรูปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้อีกเลย ดังนั้นพลาสติกในกลุ่มนี้จึงไม่สามารถ recycle ได้ พลาสติกที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เข่น เมลามีน ฟีนอลิคเรซิน ฯลฯ
 
-คุณสมบัติของโพลิเอทธิลีนคือ ?
   Polyethylene เป็นเทอร์โมพลาสติกมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เป็นสนวนไฟฟ้าที่ดี มีความเหนียว และทนทานต่อแรงดึงปานกลาง พวกที่มีความหนาแน่นต่ำจะใสมากแต่จะขุ่นเมื่อความหนาแน่นสูง ปกติจะไม่ละลายในตัวทำละลายใด ๆ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสจะเริ่มละลาย PE ได้ถูกจำแนกเป็นหลายชนิด ตัวหลัก ๆ ที่ใช้กันมากคือ LDPE, LLDPE, MDPE, HDPE การใช้งานของ PE กว้างขวางมาก ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ เช่น ขวด แผงบรรจุยา ขวด และสายน้ำเกลือ ชิ้นส่วนรถยนต์ เชือก แห อวน ถุงพลาสติก ท่อและรางน้ำ เครื่องใช้ในครัวเรือน ของเด็กเล่น ฉนวนหุ้มสายไฟ สายเคเบิ้ล ดอกไม้พลาสติก เคลือบหลังพรม ผ้าใบพลาสติก แผ่นฟิล์มสำหรับการบรรจุหีบห่อ แผ่นฟิล์มที่ใช้ในการเกษตร เป็นต้น
 
-การค้นพบพลาสติกมีความเป็นมาอย่างไร ?
   การค้นพบพลาสติกนั้นอาจพูดได้ว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกับการค้นพบเคมีอินทรีย์ แต่เหตุการณ์สำคัญที่นับได้ว่าเป็นการจุดประการยให้กับโลกของพลาสติกมีอยู่ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน เหตุการณ์แรก เป็นการค้นพบการบ่มยางโดยนายกู๊ดเยียร์ ในปี ค.ศ.1839 เป็นการดัดแปลงยางธรรมชาติโดยการสังเคราะห์เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้ เหตุการณ์ที่สอง เป้นผลงานของนายไฮแอท ในปี ค.ศ.1868 เป็นการสังเคราะห์พลาสติกตัวแรก ที่รู้จักกันว่า เซลลูลอยด์ ซึ่งทำมาจากเซลลูโลส โดยเปลี่ยนให้เป็นเซลลูโลสไนเตรต และเติมแคมเฟอร์ เพื่อนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ต่อไปได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีลัษณนะใสและเหนียว ใช้ทำคอปกเสื้อเชิ้ต หวี แปรง และฟิล์มถ่ายรูป เหตุการณ์ที่สาม เป็นการสังเคราะห์พลาสติกจากสารเคมีโดยตรง นับว่าเป็นพลาสติกสังเคราะห์ชนิดแรก โดยนายเบกเคแลนด์ในปี ค.ศ.1909 ทำได้จากฟินนอลกับฟอร์มัลดีไฮด์ และต้องควบคุมให้ได้ผลิตภัณฑ์เป็นผงเพื่อนำไปขึ้นรูปต่อไป นอกจากนี้ เขายังได้พัฒนาวิธีการและอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้สำหรับเปลี่ยนผงนี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ใช้งานได้ หลังจากนั้นจึงได้มีการค้นพบและผลิตพลาสติกชนิดใหม่ ๆ เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
-มีวิธีตรวจสอบการสึกของพลาสติกหรือไม่ ?
   การทดสอบการสึกของพลาสติกนั้น ทำได้โดยการหาค่าการต่อต้านการสึก หรือที่เรียกว่า Abrasion Resistance ซึ่งพลาสติกแต่ละขนิดจะสามารถทนต่อการเสียดสี โดยไม่เกิดรอยถลอกหรือรอยสึกได้มากน้อยต่างกัน พลาสติกที่เกิดรอยถลอกได้ย่ากกว่าจะมีค่า Abrasion Resistance ต่ำ ค่า Abrsion Resistance ของพลาสติกวัดได้จากสัดส่วนระหว่างน้ำหนักชิ้นตัวอย่างที่ลดลงต่อจำนวนรอบของการเสียดสี โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Abrasion Tester หลักการก็คือ ให้ชิ้นตัวอย่างพลาสติกมาตรฐานสัมผัสกับวัสดุผิวขรุขระที่ช่วงเวลาหนึ่ง หรือที่จำนวนรอบค่าหนึ่งหนึ่วยของรอบนี้จะขึ้นกับวิธีมาตรฐานที่ใช้วัด และวัสดุผิวขรุขระที่ใช้ เช่น มิลลิกรัมต่อ 100 รอบของกระดาษทราย โดยมากนิยมใช้ค่า Abrasion Resistance ในงานพลาสติกจำพวก ไนลอน โพลิเอทิลีนเทเรฟาเลต และงานด้านยาง อาทิพื้นรองเท้าอีวีเอ ยางรถยนต์ นอกจากนี้ ค่า Abrasion Resistance ยังวัดได้จากค่าการเปลี่ยนแปลงการดูดกลืนหรือสะท้อนแสงของชิ้นตัวอย่างพลาสติกมาตรฐานหลังจากสัมผัสกับวัสดุผิวขรุขระอีกด้วย
 
-คุณสมบัติของพลาสติกประเภท pp ?
   Polypropylene (PP) เป็นพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติกที่เบาที่สุด มีสมบัติเชิงกลดีมาก เหนียว ทนต่อแรงดึง แรงกระแทกและทรงตัวดี มีจุดหลอมตัวที่ 165 องศาเซลเซียส ไอน้ำและออกซิเจนซึมผ่านได้ต่ำ เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก มีการนำเอา PP ไปใช้งานในลักษณะเดียวกับ PE เมื่อต้องการให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น PP ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ใช้ทำถุงร้อน ฟิล์มใส ฟิล์มห่อหุ้ม หรือบรรจุอาหารที่ไม่ต้องการให้ออกซิเจนซึมผ่าน พลาสติกหุ้มซองบุหรี่ เชือก แห อวน ถังน้ำมัน ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
 
-ระหว่าง pigment และ compound เมื่อฉีดเป็นชิ้นงานแล้วจะมีสมบัติต่างกันไหม ?
    ก่อนอื่นขออธิบายถึงความแตกต่างของ 2 ชนิดนี้ก่อน Pigment เป็นลักษณะที่เป็นผง ซึ่งในขั้นตอนของการผสมเพื่อใช้งานนั้น ต้องชั่งน้ำหนักตามสัดส่วน และเทผสมในเม็ดพลาสติกที่จะใช้ เขย่าให้กระจายทั่วถึงพลาสติกก่อนที่จะนำพลาสติกนั้นไปใช้งานไม่ว่าจะเป็นการเป่าหรือฉีด ส่วนของการcompound ใช้ได้ 2 แบบ คือ ผสมสีแล้วตัดเป็นเม็ดเลย หรือทำเป็นเม็ดสีเข้มข้น (Color Master Batch) คือผสมpigment หรือสารเติมแต่งอื่นๆลง ในพลาสติก แล้วตัดเป็นเม็ด ซึ่งสำหรับ Master Batch นั้นตัวพลาสติกที่ใช้นั้นต้องไหลได้ดี หรืออาจมีการใส่สาร dispersing agent เพื่อให้มีการกระจายตัวในเนื้อพลาสติก เมื่อนำไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น

ข้อแตกต่างจากการใช้ทั้ง 2 ชนิดคือ
     1. ต้นทุน ซึ่ง pigment นั้นจะมีราคาถูกกว่าการ compound เพราะ การ compound ต้องผ่านขั้นตอน 1 ขั้นตอนคือการรีดตัดเป็นเม็ด
     2. ความสม่ำเสมอของการผลิตในแต่ละครั้ง เนื่องจาก pigment นั้น มีลักษณะเป็นผง ในการชั่งแต่ละครั้งไม่สามารถควบคุมได้แม่นยำมากนัก เพราะอาจมีการฟุ้งกระจาย ของpigment ดังกล่าว ดังนั้นสีที่ได้อาจมีความเข้มอ่อนต่างกันในแต่ละครั้งที่ผลิต ซึ่งถ้าเทียบกับ compound การใช้ compound จะดีกว่า โดยคุณภาพของสีที่ได้นั้นถ้าไล่ลำดับจากมากไปน้อยคือ 1. Color compound 2. Color master batch 3. Pigment
     3. การทำความสะอาดเครื่อง เนื่องจากการใช้ pigment นั้นเกดิการฟุ้งกระจายได้ ซึ่งทำให้ยากในการทำความสะอาด เมื่อเปลี่ยนสี เพราะต้องทำความสะอาดที่ hopper ด้วย
     4. ข้อควรระวังในการใช้ master batch คือต้องเลือกหัวเชื้อ หรือ Base resin ให้เหมาะสมกับพลาสติกที่ใช้ เพราะมีผลต่อการกระจายตัวของสีในเนื้อพลาสติก และบางครั้งอาจมีผลต่อคุณสมบัติของพลาสติกได้

     โดยสรุปคือ การเลือกใช้ pigment หรือ compound นั้นมีผลต่อ appearance หรือความสวยงามของสินค้าที่เราผลิต ถ้าหากต้องการความสวยงามสูงก็ควรใช้compound โดยต้นทุนการผลิตก็จะเพิ่มมากขึ้นตามด้วยเช่นกัน

 

 

 
 

Shiki International Co., Ltd.

Tel: 08 1844 6073, 08 6377 5519, 02 814 4002 Fax: 02 814 4003